วันจันทร์ที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๐

อย่าเรียนแบบ 12inch ตอนที่ ๓


เข้ารั้วมหาลัย

วิชาประวัติศาสตร์ สอนเราอยู่อย่างหนึ่ง สิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต มักเกิดขึ้นซ้ำเสมอ ขึ้นอยู่กับว่า เมื่อไหร่เท่านั้นเอง

การเรียนในมหาลัยทุกอย่างดูสวยงามในสายตาของน้องใหม่เสมอ “น้อง อาจารย์ใหม่ใจดี“ ขอจำประโยคนี้ไปจนวันตาย

ปี 1 เทอม1 วิชารัฐศาสตร์ Gov 101 อาจารย์สาวสวย จบใหม่มาจากอังกฤษ ครับและในเทอมนั้นนั่นเองครับ F ตัวแรกในรั้วมหาลัย

เทอมแรกเริ่มต้นกันด้วยเกรด 1.75 ปลายอุโมงค์ที่แล้ว กลายเป็นจุดเริ่มต้นของอุโมงค์ใหม่ สำหรับนักศึกษาท้ายห้องอย่างพวกผม เมื่อเราอยู่ก้นเหว มีทางเดียวเท่านั้น คือทางขึ้น มันไม่มีต่ำกว่าก้นเหวแล้ว เรียนกันร่อแร่ครับ วิชานอกคณะ เกือบทุกตัว ต่ำกว่า B ทั้งสิ้น มีแต่วิชาในภาควิชาเท่านั้นที่ ได้เกรดดีหน่อย

เรียนกันแบบนี้แย่แน่ครับ เทคนิคในการเรียนต่างๆก็เลยถาโถมเข้ามา

1. Sec. ไหนปล่อยผี :วิชาที่เรียนรวมกันหลายคณะ มันจะมีหลายห้องครับ เราเรียกว่า Sec. เราก็ไปดูว่ารุ่นพี่ที่ F เทอมที่แล้ว เทอมนี้ไปลง Sec. ไหน Sec.นั้นจะเป็น Sec. ที่เด็กปึกมารวมกันโดยมิได้นัดหมาย อาจารย์จะใจดี และถ้าเราไม่ปึกที่สุด เราจะเกรดค่อนข้างดี เพราะตัดเกรดใน Sec.

2. หาวิชาที่เด็กวิศวะมันไปเรียนกัน :ใครว่าเด็กวิศวะฉลาด มันก็โชคดีที่เอ็นติดเหมือนเรานั่นแหละ ทุกๆปีจะมีเด็กวิศวะเป็นร้อย มาลงวิชาคณะมนุษย์ แน่นอนครับ เค้ามาเพื่อเอาเกรดเพียงอย่าเดียวเท่านั้น วิชาพวกนี้ก็เช่น วิชาออกแบบเบื้องต้น,จัดดอกไม้,วางแผนครอบครัว,ปรัชญากรีก,ปรัชญาจีน, Camping. และอื่นๆ

3. ห้ามลง Sec. 8โมงเช้า :ใครๆก็ตั้งใจว่าเทอมนี้จะขยันขึ้น ถามจริงเถอะ ทำได้กี่วัน โดยเฉพาะหน้าหนาวที่เชียงให่ ใครลุกก็บ้าแล้ว เลือก Sec. ที่เรียนสายหน่อย หรือถ้าไม่มีเรียนเทอมหน้า(Summer) ก็ยังไม่สาย

4. วิชาที่ทำรายงานเยอะ คือวิชาที่ดีที่สุด : ตอนเรียนมัธยม ใครๆ ก็ขี้เกียจทำรายงาน แต่พอถึงมหาลัยจึงเข้าใจสัจธรรม ขอให้สั่งเถอะครับเท่าไหร่ก็ทำ คะแนนเก็บมีค่ากว่าทอง

5. เข้าเรียนทุกครั้ง และนั่งหน้า : อาจารย์ทุกท่านใจดี และพร้อมจะเมตตาเราเสมอ คิดดูครับ ทุกครั้งที่เข้ามาสอนจะเห็นเรานั่งเรียนอยู่ทุกครั้ง จะเข้าสายหน่อยก็ได้ ให้ท่านจำหน้าได้เถอะครับ เวลาท่านจะตัดเกรด อย่างน้อยท่านก็ต้องเอะใจว่าเรามาเรียนทุกครั้ง ลองเปรียบเทียบดูครับ คะแนนต่ำ แต่มาเรียนทุกครั้ง(ตั้งใจด้วยเพราะนั่งหน้า) กับพวกคะแนนต่ำและไม่มาเรียน(หรือมาแต่อาจารย์ไม่เห็นหรือจำไม่ได้) 555

6. อย่าไปลงเรียนคนเดียว :บ่อยครั้งที่เราต้องไปเรียนต่างคณะ ถ้าเราไปเรียนโดยไม่รู้จักใคร ขาดเรียนสักครั้ง Lecture ก็ไม่มี อาจารย์สั่งงานก็ไม่รู้เรื่อง นัดสอบก็ไม่รู้ ทำรายงานก็ไม่มีกลุ่ม หนักที่สุด ตอนสอบไม่รู้จะไปยืม Lecture ใครมาถ่ายเอกสาร เพื่อนสำคัญจริงๆครับ

7. ลงเรียนในหมวดวิชาเดียวกัน :แน่นอนครับวิชาที่รายงานเยอะที่สุด คือวิชาที่ดีที่สุด แต่ลงอย่างนี้ทุกวิชาก็คงไม่ไหว งั้นจัดหมวดกันหน่อย วิชาหมวดสังคมเป็นหมวดที่จัดง่ายที่สุด เช่นเทอมนี้เรียน ประชากรศาสตร์, เครือญาติและการสืบเผ่าพันธุ์และ วิชาวางแผนครอบครัว เทอมหน้าเรียน สังคมวิทยาการเปลี่ยนแปลง ,มนุษย์กับโลกสมัยใหม่,สังคมวิทยากับการพัฒนา แล้วก็ทำรายงานชุดเดียว ส่ง 3วิชาครับ อย่างมากก็แก้ไขนิดหน่อย มากที่สุด ก็ ใช้หนังสืออ้างอิงร่วมกันได้ไม่ต้องอ่านหลายเล่มมาก

8. ไม่มีอัคติ อาจารย์ทุกท่านหวังดีกับเรา :ครับ ถ้าท่านบอกให้ไปทำอะไรไปทำครับ ได้ผลไม่ได้ผลทำไปก่อน ท่านจะปลื้มครับ

9. วิชา Major สำคัญที่สุด : ไม่สำคัญหรอกครับว่าคุณจะเรียนเก่งขนาดไหน ตราบใดวิชา Major คุณห่วย เพราะ สุดท้าย ปี๓ - ๔ วิชาที่ต้องเรียนก็มีแต่วิชา Major และความรู้มันจะสะสมกันได้

10. จอมยุทธย่อมมีท่าไม้ตาย : แน่นอนครับ สุดท้ายถ้าหมดหนทางต้องแสดงฝีมือออกมาเอง ก็ต้องมีท่าไม้ตายครับ ท่าไม้ตายไม่ต้องมีมากครับ แม่นๆท่าเดียวก็พอ (เพราะถ้ามีหลายท่าแสดงว่ามันไม่แม่น) นั่นก็คือ ต้องรู้จริงสักเรื่องครับ รู้แบบใครก็เถียงไม่ขึ้น อาจารย์อ่านข้อสอบเรายังต้องไปเปิดตำรา เพราะไม่แน่ใจ เพราะเราเจ๋งครับ
        ผมยังจำได้ มีหนังสืออยู่ ไม่กี่เล่มที่ผมใช้ 1. วัฒนธรรมข้าว โดยเอี่ยม ทองดี 2.The Trap by James Goldsmith 3. ท่าเกวียน ศ.ดร. ยศ สันตสมบัติ แล้วก็ประโยคเด็ด เช่น เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง ของ ม.จ.สิทธิพร กฤษฎากร

และข้อสุดท้าย มีเพื่อนครับ

1 ความคิดเห็น:

mike กล่าวว่า...

"เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง ของ ม.จ.สิทธิพร กฤษฎากร"

ลงท้ายได้ดีครับ เคยเห็นบางคนเถียงคอเป็นเอ็นกลับประโยคนี้ ผมว่าไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา พวกนี้วัตถุนิยม

อีกเรื่องคือ "History repeat itself" บอกได้คำเดียว่ามันเป็นสัจธรรม ผมเพิ่งเห็นทรราชย์ยุค พ.ศ. 2501-2506 เพิ่งหวนกลับมาทำซ้ำประวัติศาสตร์ไปเมื่อเร็วๆ นี้เองอ่ะครับ